สร้างบ้านงบน้อย แต่ประโยชน์ใช้สอยมาก
ก่อนจะอ่านเนื้อหาแต่ละหัวข้อ สิ่งแรกที่ผู้อ่านต้องทำความเข้าใจ คือ คำว่า “งบน้อย” ในเนื้อหาชุดนี้ ไม่ได้หมายถึงการสร้างบ้านด้วยงบหลักหมื่นหลักแสน และไม่ได้หมายถึงการสร้างบ้านด้วยวัสดุเกรดต่ำ ในทางกลับกันเนื้อหาชุดนี้สามารถประยุกต์ใช้ได้กับบ้านทุก ๆ ระดับ ทั้งบ้านงบหลักแสนและบ้านหลายสิบล้านบาท รวมทั้งยังสามารถใช้วัสดุเกรดคุณภาพหรือเกรดที่สูงขึ้นได้ตามแต่ไลฟ์สไตล์ของผู้เป็นเจ้าของบ้าน เพราะสิ่งที่ต้องการนำเสนอไม่ได้ต้องการให้ประหยัดงบก่อสร้าง แต่ต้องการบอกเล่าแนวทางในการออกแบบบ้านและการสร้างบ้านที่สามารถประหยัดงบก่อสร้างลงได้อย่างแท้จริง โดยเนื้อหาชุดนี้ ถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก เริ่มจากการออกแบบที่สามารถประหยัดงบไปได้ กระบวนการนี้เป็นส่วนสำคัญที่สุด ที่อาจหมายถึงการประหยัดงบลงไปได้ถึงหลักล้าน, ส่วนที่สองกระบวนการก่อสร้างที่สามารถเลือกวัสดุ โครงสร้างเพื่อการประหยัดงบลงได้ ส่วนที่สามเป็นการจัดการงานก่อสร้าง ที่ต้องเป็นแบบแผนและเลือกผู้สร้างบ้านได้อย่างประหยัด
Credit ผู้เขียน : อภิสิทธิ์ สุธาประดิษฐ์
1. รู้ความต้องการอย่างแท้จริง
โดยปกติการคำนวณค่าสร้างบ้านเบื้องต้น นิยมคำนวณด้วยค่าเฉลี่ยโดยนำพื้นที่ใช้สอยต่อตารางเมตร คูณกับค่าเฉลี่ยในการก่อสร้าง เช่น บ้านที่ใช้วัสดุทั่วไป (เกรดกลาง) ค่าก่อสร้างเฉลี่ยที่ 13,500 บาท/ตร.ม. เท่ากับว่าทุก ๆ ตารางเมตรคือต้นทุนที่ค่อย ๆ บานปลาย สำหรับบ้านเรือนทั่วไปโดยปกติมีพื้นที่ใช้สอยกว้าง จึงอาจมองเห็นความสำคัญของพื้นที่ไม่ชัดเจนนัก ให้ผู้อ่านนึกถึงห้องคอนโดสมัยใหม่โดยเฉพาะคอนโดสตูดิโอ ที่มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 30 ตร.ม. เท่านั้น แต่กลับสามารถอยู่อาศัยได้จริง มีครบทั้งห้องนอน ห้องน้ำ ห้องครัวและห้องนั่งเล่น ที่เอ่ยมาเช่นนี้ไม่ได้หมายถึงให้ออกแบบบ้านเล็กเท่าห้องคอนโดนะครับ เพียงต้องการสื่อให้เห็นถึงการใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด
ภาพประกอบผังบ้าน โดย : Punplan
สิ่งที่สำคัญที่สุดก่อนสร้างบ้าน จึงไม่ใช่การมองหาผู้รับเหมาหรือนักออกแบบ แต่เป็นการหาความต้องการในการใช้งานอย่างแท้จริง ยิ่งผู้อ่านสามารถเจาะจงความต้องการได้ชัดเจนมากเท่าไหร่ งบประมาณการก่อสร้างจะยิ่งถูกลงกว่าเดิมมาก เพราะพื้นที่ใช้สอยที่ถูกสร้างไปอย่างไร้ประโยชน์ ล้วนเป็นต้นทุนที่สูญเสียไป แต่หากทุก ๆ พื้นที่ได้ใช้งานจริงเป็นประจำทุกวัน นั่นก็เท่ากับว่า อิฐทุกก้อน ปูนทุกกระสอบ ค่าก่อสร้างทุก ๆ ส่วน ล้วนจ่ายไปอย่างคุ้มค่า เพราะสิ่งที่แพงที่สุดคือสิ่งที่ซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้
2. ประโยชน์ที่มีมากกว่าหนึ่ง
เมื่อทราบโจทย์ความต้องการอย่างชัดเจนแล้ว โจทย์เหล่านี้สามารถนำมาคำนวณหาพื้นที่ใช้สอยเป็นตารางเมตรได้ ทุก ๆ พื้นที่ใช้สอยก่อให้เกิดการใช้งานจริง แต่หากผู้อ่านต้องการให้เกิดความคุ้มค่ามากกว่าเดิม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาแนวทางให้พื้นที่แต่ละตารางเมตรมีประโยชน์มากกว่า 1 การใช้งาน
ตัวอย่างการออกแบบห้องแบบ Loft ( Loft ในที่นี้หมายถึงการออกแบบฟังก์ชั่นสูงโปร่ง เพื่อให้เกิดพื้นที่ใช้สอยชั้นลอย) ช่วยให้พื้นที่เดียวกันเกิดประโยชน์มากกว่าปกติ ในภาพประกอบนี้ ในพื้นที่เดียวกันแบ่งส่วนการใช้งานสองส่วน ส่วนพื้นและชั้นลอย สามารถเป็นได้ทั้งห้องนั่งเล่น, ทำงาน, ห้องน้ำ ใต้ใช้สำหรับนั่งเล่น ทำงาน ห้องน้ำ ห้องครัว หรือแม้แต่การมองหาพื้นที่จัดเก็บในแนวตั้ง จะช่วยประหยัดพื้นที่การใช้งานแนบราบได้เป็นอย่างดี
3. เน้นเฉพาะที่จำเป็น
การออกแบบบ้านแบบมินิมอลได้รับความนิยมสูงมากในประเทศญี่ปุ่น หัวใจสำคัญของมินิมอลคือ น้อย แต่ มาก มีเท่าที่จำเป็นเพื่อให้ข้าวของทุก ๆ ชิ้นเกิดความคุ้มค่าในการใช้งานมากที่สุด ให้ผู้อ่านนึกถึงข้าวของไม่จำเป็นที่เรามีอยู่ในทุก ๆ วันนี้ว่า มีอะไรบ้างที่ไม่ได้เกิดประโยชน์ต่อการใช้งาน อาทิ เสื้อผ้าที่ถูกเก็บไว้ในตู้จนลืมไปแล้วว่ามี, กระเป๋าที่เป็นได้เพียงของสะสม, จาน ชาม ที่ถูกเก็บไว้ในห้องเก็บของแทบไม่ได้หยิบมาใช้, หนังสือในตู้ที่เป็นได้เพียงกระดาษเก็บฝุ่น เผลอ ๆ บางเล่มซื้อมายังไม่ได้อ่านเลย
“สิ่งที่มีอยู่แต่คุณค่าจริงแท้กลับไม่มี สิ่งเหล่านั้นไม่ต่างอะไรกับการไม่มีอยู่” เพราะคุณค่าที่แท้จริงของสิ่งของคือการได้หยิบมาใช้งาน วิธีการที่ดีที่สุดที่จะจัดการกับสิ่งของเหล่านี้ คือ นำไปทิ้ง นำไปขายต่อมือสองหรือบริจาคให้กับผู้ที่ต้องการใช้มัน หลังจากคัดแยกสิ่งเหล่านี้ออกไปจากบ้านของเรา เราจะเห็นได้เด่นชัดว่า บ้านที่เคยคับแคบกลับกว้างกว่าปกติ
ผู้อ่านอาจเริ่มสงสัยว่า หัวข้อนี้เกี่ยวอะไรกับการประหยัดงบสร้างบ้าน ต้องขอย้อนกลับไปที่หัวข้อแรก ในเนื้อหาข้างต้นบอกไว้ว่า ทุก ๆ ตารางเมตรคือต้นทุนการก่อสร้าง นั่นก็เท่ากับว่า หากผู้อ่านใช้พื้นที่ 20 ตร.ม. สำหรับจัดเก็บสิ่งของที่ไม่จำเป็น ที่ถูกซ่อนตัวไว้ในตู้, ห้องเก็บของ, ห้องครัว นั่นก็เท่ากับว่าจะต้องเสียเงินค่าสร้างบ้านโดยเปล่าประโยชน์มากถึง 2.7 แสนบาท ในทางกลับกันหากผู้อ่านสามารถเฟ้นหาความจำเป็นต่าง ๆ ได้ชัดเจน งบ 2.7 แสนบาท คือเงินที่ประหยัดลงไปได้
ยิ่งไปกว่านั้น นอกจากค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างแล้วยังมีค่าใช้จ่ายของที่ดินที่มีมูลค่าสูงมาก ข้อดีของการเฟ้นหาความต้องการในการใช้งานเฉพาะที่จำเป็น จะช่วยให้พื้นที่ใช้สอยของบ้านลดลง ซึ่งจะส่งผลให้ใช้ที่ดินน้อยลง ต้นทุนในการซื้อที่ดินถูกลงอีกด้วยครับ
4. วัสดุขนาดมาตรฐานช่วยลดงบประมาณ
ทุก ๆ สินค้าที่สามารถผลิตในปริมาณมาก ย่อมมีราคาถูกกว่าสินค้าที่ต้องสั่งทำเฉพาะชิ้น หลักการนี้เป็นหลักการทั่วไปที่นำมาใช้กับสินค้าทุกประเภท วัสดุก่อสร้างและของตกแต่งบ้านเช่นกันครับ หากผู้อ่านเลือกใช้ขนาดมาตรฐาน ขนาดที่มีจำหน่ายทั่วไปในท้องตลาด สินค้าเหล่านี้ผลิตมาครั้งละจำนวนมากและยังเป็นสินค้าที่แต่ละแบรนด์จำเป็นต้องแข่งขันกันเพื่อแย่งชิงลูกค้า และด้วยเหตุผลเหล่านี้เองทำให้สินค้าขนาดมาตรฐานมีราคาถูกกว่าปกติ
บ้านที่ออกแบบส่วนต่าง ๆ ตามขนาดมาตรฐานจึงสามารถลดงบประมาณการก่อสร้างลงไปได้อย่างชัดเจน อาทิ ประตู, หน้าต่าง, เฟอร์นิเจอร์, ผ้าม่าน, กระจกกั้นอาบน้ำ, และวัสดุอื่น ๆ ที่มีจำหน่ายในร้านค้าวัสดุก่อสร้างทั่วไป ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดกับการนำแนวคิดนี้มาใช้งานคือโครงการบ้านจัดสรร บ้านจัดสรรทั้งโครงการใหญ่และเล็ก นิยมออกแบบประตู หน้าต่างให้มีขนาดมาตรฐาน เพื่อที่จะสั่งซื้อวัสดุต่าง ๆ ในต้นทุนต่ำลงได้
5. ความไร้ค่าที่มีประโยชน์
มีตัวอย่างงานตกแต่งภายในหนึ่งเคส นักออกแบบเดินทางไปยังโรงงานเผากระเบื้อง และได้พบเจอกับแผ่นกระเบื้องเสียรอทิ้งถูกกองไว้หลังโรงงาน แผ่นกระเบื้องที่เสียเกิดจากการเผาที่ความร้อนไม่สมดุลกัน ส่งผลให้สีของกระเบื้องมีความแตกต่างแต่ละแผ่นไม่เหมือนกัน หากมองในมุมของคนทั่วไปสีที่ต่างกันคือความเสียหาย ใช้ประโยชน์ไม่ได้ แต่ในมุมมองของนักออกแบบที่เก่ง มองเห็นถึงคุณค่าและความสวยงามที่มีมากกว่ากระเบื้องทั่วไป เพราะเฉดสีที่ต่างกันทำให้ผนังดังกล่าวดูไม่แข็ง ดูเป็นธรรมชาติมากกว่าเดิม ตัวอย่างนี้เป็นตัวบ่งชี้ถึงความปรุงแต่งและการให้คุณค่าของวัสดุที่แตกต่างกัน
การเลือกหาวัสดุเหลือใช้, วัสดุเก่ามือสอง วัสดุใด ๆ ที่หมดประโยชน์ในสถานะเดิม ลองมองในมุมใหม่เพื่อเฟ้นหาประโยชน์และคุณค่าของวัสดุเหล่านั้น หากใครหาได้ มองเป็น จะช่วยให้การสร้างบ้านมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและประหยัดงบก่อสร้างไปได้มากครับ
6. วางแผนงานให้ชัดเจน
ทราบกันหรือไม่ว่างบประมาณที่บานปลายมักไม่ได้เกิดจากราคาสินค้าหรือค่าจ้างก่อสร้าง แต่กลับเกิดจากการวางแผนงานที่ไม่ชัดเจนตั้งแต่ต้น เมื่อแผนงานไม่ชัดเจนความสูญเสียด้านเวลาและการทำงานแบบวกวนย่อมเกิดขึ้น หลาย ๆ งานเจ้าของบ้านต้องทำการรื้อเพื่อแก้งานใหม่ หลาย ๆ งานต้องเสียเวลาไปกับกระบวนการจัดซื้อ จัดส่งของ
หากมีแผนงานที่ชัดเจนสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้สูงมาก ตัวอย่างเล็ก ๆ เช่น การสั่งซื้อวัสดุก่อสร้าง หากมีแผนงานชัดเจน มีรายการวัสดุที่แน่นอน สามารถสั่งซื้อสินค้าภายในครั้งเดียวได้ เมื่อสั่งซื้อสินค้าปริมาณมากในครั้งเดียว ราคาขายย่อมถูกลง, ต้นทุนค่าขนส่งถูกลง, และหากรายการวัสดุชัดเจน สิ่งที่สั่งซื้อมาจะไม่สูญเปล่า ไม่ขาดหรือเกินไปจากที่ใช้ ทำให้ต้นทุนการก่อสร้างถูกใช้ไปอย่างมีประสิทธิภาพ
7. จ้างนักออกแบบ, สถาปนิก
อ่านมาถึงหัวข้อนี้ หลายท่านอาจจะเกิดคำถามขึ้นมาในใจ ค่าจ้างสถาปนิกส่วนใหญ่มีราคาที่สูงจะประหยัดได้อย่างไรกัน ? ความจริงแล้วการจ้างออกแบบบ้านไม่ได้มีค่าจ้างที่สูงเลยครับ ตามมาตรฐานกลางที่กำหนดไว้จะอยู่ที่ 7% ของราคาก่อสร้าง แต่ในความเป็นจริงแล้ว บริษัทที่สามารถคิดค่าออกแบบได้ถึง 7% ค่อนข้างน้อยมาก ส่วนนักออกแบบทั่วไปมีค่าจ้างเพียง 2-5% ของราคาก่อสร้างเท่านั้น
ตัวอย่างบ้าน 1 หลัง : พื้นที่ใช้สอย 150 ตร.ม. ราคาก่อสร้างบ้านประมาณ 2 ล้านบาท ค่าออกแบบบ้านจะอยู่ที่ 8 หมื่นบาทโดยประมาณ ซึ่งค่าจ้างออกแบบบ้าน 8 หมื่นบาท ช่วยให้ผู้เป็นเจ้าของบ้านลดค่าใช้จ่ายในการสร้างบ้านไปได้มาก เนื่องด้วยผู้ออกแบบที่เก่ง จะช่วยเฟ้นหาโจทย์ความต้องการได้อย่างคุ้มค่า อีกทั้งยังช่วยเลือกวัสดุ, ออกแบบฟังก์ชั่นต่าง ๆ ให้ลงตัวกับการใช้งานมากที่สุด
ที่มากไปกว่านั้น การว่าจ้างออกแบบบ้าน ยังช่วยให้เจ้าของบ้านมีที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์ ช่วยให้แผนงานต่าง ๆ เป็นไปอย่างเป็นระบบ อีกทั้งผู้ออกแบบยังทำรายการวัสดุ ค่าแรง ตรงส่วนนี้สามารถนำไปเทียบราคาเพื่อหาผู้รับเหมาที่ไม่แพงได้
credit : https://www.banidea.com/how-to-design-home-by-abhisit/